เอ็นไอเอเปิดความว้าว “แบตเตอรี่รีไซเคิล” เทรนด์ใหม่รับการเติบโตของสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และอีวีคาร์ในอนาคต

แนวโน้มการขยายความเป็นเมือง หรือ Urbanization เป็นหนึ่งในแนวโน้มสำคัญ (Megatrends) ของโลกที่มีอัตราการเปลี่ยนแปลงการขยายตัวของเมืองเพิ่มสูงขึ้น ในการก้าวเข้าสู่ยุค “สมาร์ทซิตี้” ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และชีวิตความเป็นอยู่ รวมถึงผลกระทบจากกิจกรรมกลไกของความเป็นเมืองที่เกิดขึ้น อาทิ กิจกรรมทางการผลิตที่มักมีผลกระทบภายนอก (Externality) ตามมาทั้งจากการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่มีแนวโน้มปริมาณเพิ่มสูงขึ้นอันก่อให้เกิดภาวะโลกร้อน แม้ว่าปัจจุบันหลายประเทศทั่วโลกเริ่มให้ความสำคัญกับการลดการปล่อยก๊าชคาร์บอนไดออกไซด์อย่างจริงจังมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ที่มีการเปลี่ยนแปลงเป็นเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น มุ่งเน้นการพัฒนานวัตกรรมการบริหารจัดการรีไซเคิลแบตเตอรี่ที่ใช้แล้ว (Battery Recycling Technologies) ให้สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด รวมถึงลดผลกระทบจากความเป็นพิษของวัสดุที่ใช้ในการผลิตแบตเตอรี่ ทั้งนี้ แนวโน้มการเติบโตของตลาดเทคโนโลยีการรีไซเคิลแบตเตอรี่มีโอกาสเติบโตสูงและมีแนวโน้มขยายตัวการใช้งานที่จะมากขึ้น

เพื่อรองรับปริมาณแบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้าที่คาดว่าจะมีปริมาณเพิ่มมากขึ้นและอาจแปรสภาพเป็นขยะอิเล็กทรอนิกส์ในอนาคต วันนี้ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ(องค์การมหาชน) หรือ NIA โดยสถาบันการมองอนาคตนวัตกรรม (Innovation Foresight Institute : IFI) จะพาไปดูทิศทางเติบโตการรีไซเคิลชิ้นส่วนสำคัญดังกล่าว ซึ่งต้องขอบอกเลยว่ามีความน่าสนใจอยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะในมิติของการสร้างมูลค่าใหม่ทางเศรษฐกิจ และการสร้างความรับผิดชอบที่เป็นมิตรต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม

ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) เปิดเผยว่า Battery Recycling Technologies หรือการรีไซเคิลแบตเตอรี่ที่ใช้แล้ว เป็นการนำแบตเตอรี่ที่หมดอายุการใช้งานเข้าสู่กระบวนการทางกายภาพหรือเคมี เพื่อแปรสภาพแบตเตอรี่ ให้กลายเป็นวัตถุดิบตั้งต้น โดยการดึงเอาวัตถุดิบและโลหะกลับมาใช้ใหม่ การรีไซเคิลชิ้นส่วนดังกล่าวมีเป้าหมายเพื่อจัดการขยะจากแบตเตอรี่ที่ใช้แล้วโดยลดของเสียให้ได้มากที่สุด ลดการทิ้งของเสียที่มีพิษที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม และลดการก่อผลกระทบภายนอกเชิงลบ (Negative Externality) รวมทั้งนำมาแปรสภาพให้ใกล้เคียงกับของใหม่ เพื่อให้สามารถนำมาใช้ในกิจกรรมต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพอย่างสูงสุด

ในช่วง 3 – 4 ปีที่ผ่านมา หลายประเทศให้ความสำคัญกับโซลูชั่นการรีไซเคิลแบตเตอรี่ โดยเฉพาะแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนที่ใช้ในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ไม่ว่าจะเป็นจีน ที่มียอดขายรถยนต์ไฟฟ้ามากกว่า 1,000,000 คัน และรัฐบาลยังได้เตรียมออกกฎหมายใหม่ให้ผู้ผผลิตแบตเตอรี่ขนาดใหญ่สร้างโรงงานรีไซเคิลในสถานประกอบการของตนเอง ขณะที่หลายประเทศในทวีปยุโรปเน้นหันมาใช้พลังงานสะอาด (Clean Energy) โดยมีปัจจัยขับเคลื่อนที่สำคัญ คือ กฎระเบียบข้อบังคับของภาครัฐที่เข้มงวด อาทิ EU Batteries Directive ที่ห้ามใช้แบตเตอรี่ที่มีส่วนประกอบของแคดเมียมมากกว่า 0.002% ทั้งนี้ พบว่าทวีปอเมริกาเหนือทเป็นผู้นำตลาดด้านเทคโนโลยีการรีไซเคิลแบตเตอรี่ โดยส่วนใหญ่ 99% ของทวีปอเมริกาเหนือมีการรีไซเคิลแบตเตอรี่แบบตะกั่ว – กรด โดยทวีปนี้มีข้อได้เปรียบที่มีจำนวนนักพัฒนาเทคโนโลยีนวัตกรรมเรื่องดังกล่าวนี้มากที่สุด ส่วนในภูมิภาคเอเชียนั้นความต้องการของอุตสาหกรรมปลายทาง ซึ่งรวมถึงอุตสาหกรรมยานยนต์และการกักเก็บพลังงาน (Energy Storage) ที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้ตลาดรีไซเคิลแบตเตอรี่ในเอเชียเติบโตอย่างมาก

สำหรับขนาดตลาดโลกของการรีไซเคิลแบตเตอรี่ พบว่า ในช่วงระหว่างปี 2017 – 2022 แนวโน้มอัตราการเติบโตของอุตสาหกรรมรีไซเคิลแบตเตอรี่ทั่วโลกอยู่ที่ 11.36% โดยเฉพาะในทวีปยุโรปและอเมริกาเหนือ อันมีปัจจัยสำคัญมาจากกฎระเบียบการรีไซเคิลแบตเตอรี่ของรัฐบาลที่มีความเข้มงวดและเอื้อประโยชน์ไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิต ทั้งนี้ ยังพบอีกว่ามูลค่าการเติบโตของการรีไซเคิลแบตเตอรี่ในปี 2017 อยู่ที่ 9.33 พันล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ ส่วนในปี 2020 คาดว่าจะมีการเติบโตที่ 12.88 พันล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ และปี 2020 อาจทะยานไปถึง 15.98 พันล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ ตามลำดับ

ดร.พันธุ์อาจ กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการสำรวจและศึกษาข้อมูลโดยสถาบันการมองอนาคตนวัตกรรมยังพบอีกว่า 5 ภาคส่วนที่จะได้รับประโยชน์จากเทคโนโลยี การรีไซเคิลแบตเตอรี่ คือ
• อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Gadgets) อาทิ โทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์ แล็ปท็อปที่เพิ่มมากขึ้นจะเป็นปัจจัยหลักที่นำไปสู่การพัฒนาเทคโนโลยีผลิต - รีไซเคิลแบตเตอรี่ เนื่องจากเป็นหัวใจหลักของการทำงานของอุปกรณ์ดังกล่าว
• สิ่งแวดล้อมและภูมิอากาศ โดยการนำวัสดุจากแบตเตอรี่ที่ใช้แล้วกลับมาใช้ใหม่จะช่วยลดมลพิษทางน้ำ และการรีไซเคิลแบตเตอรี่ยังเป็นแนวทางการจัดการขยะที่มีประสิทธิภาพ สามารถลดสารพิษจากขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อคน สัตว์ และธรรมชาติได้เป็นอย่างดี
• การขนส่ง แนวโน้มอัตราการเติบโตของระบบขับเคลื่อนยานยนต์ไฟฟ้าที่เพิ่มมากขึ้นจะส่งผลให้การใช้และรีไซเคิลแบตเตอรี่เติบโตในทิศทางเดียวกัน รวมถึงแบตเตอรี่ตะกั่ว-กรดที่ใช้ในอุตสาหกรรมยานยนต์ สามารถดึงตะกั่วกลับมาใช้ใหม่ได้มากถึง 99%
• ไฟฟ้าและพลังงาน จากการใช้งานแบตเตอรี่ในระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ (Smart Grid) การกักเก็บพลังงานหมุนเวียน และระบบสำรองพลังงานไฟฟ้า
• เหมืองแร่และโลหะ โดยเฉพาะตลาดวัสดุตั้งต้นในกระบวนการผลิต ผู้ค้าส่ง และผู้ค้าปลีกที่จะเป็นผู้ได้รับประโยชน์จากการพัฒนาเทคโนโลยีรีไซเคิลแบตเตอรี่ รวมถึงแร่ธาตุจากแบตเตอรี่ที่ใช้แล้วยังสามารถดึงกลับมาใช้ผลิตแบตเตอรี่ใหม่ได้อีก เช่น ลิเทียม โคบอลต์ นิกเกิล

ด้านแนวโน้มการลงทุนที่น่าสนใจ ขณะนี้รัฐบาลสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปมีการให้ทุนสนับสนุนแก่สตาร์ทอัพเพื่อพัฒนาและวิจัยเทคโนโลยีรีไซเคิล ภายใต้โครงการอนุรักษ์และปกป้องสิ่งแวดล้อม ขณะที่ Venture Capital (VC) และ Government Funds ทั่วโลก เริ่มให้ความสำคัญกับการลงทุนการพัฒนาเทคโนโลยีแบตเตอรี่ ขั้นสูง รวมถึงการปรับปรุงความสามารถในการนำกลับมาใช้ใหม่ตลอดอายุการใช้งานของแบตเตอรี่ อาทิตัวอย่าง บริษัท Narada Power ของประเทศจีนมีการลงทุนประมาณ 15 ล้านดอลลาร์สหรัฐในการสร้างโรงงานรีไซเคิลแบตเตอรี่ลิเทียม ขณะที่หน่วยงานนวัตกรรมชั้นนำของสหราชอาณาจักร Innovate UK สนับสนุนให้การลงทุนประมาณ 40 ล้านปอนด์ ภายใต้โครงการ Industrial Strategy Challenge Fund เพื่อการออกแบบ พัฒนา และผลิตแบตเตอรี่สำหรับยานพาหนะพลังงานไฟฟ้า (EV) นอกจากนี้ บริษัท Umicore ของประเทศเบลเยียม ที่เป็นบริษัทชั้นนำระดับโลกด้านอุตสาหกรรมเคมี วัสดุศาสตร์ โลหะกรรมและการรีไซเคิล ได้มีการลงทุนประมาณ 25 ล้านยูโร เพื่อสร้างโรงงานรีไซเคิลแบตเตอรี่ลิเธียมไอออน กำลังการรีไซเคิลอยู่ที่ 7,000 ตันต่อปี เพื่อนำแบตเตอรี่ที่รีไซเคิลแล้วไปแปรรูปให้อยู่ในรูปของวัตถุดิบ เพื่อใช้ในการผลิตเป็นแบตเตอรี่ต่อไป

ดร.พันธุ์อาจ กล่าวทิ้งท้ายว่า แม้ว่าการรีไซเคิลแบตเตอรี่จะเป็นโอกาสใหม่ของการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม สามารถสร้างมูลค่าใหม่ได้อย่างมหาศาล แต่อยากให้ผู้พัฒนามองถึงเรื่องการรับผิดชอบต่อสังคม สิ่งแวดล้อม และคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่เป็นอีกมิติที่สำคัญ เพราะหากมุ่งแต่เพียงผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจจะไม่สามารถช่วยให้การเติบโตทางสังคมเป็นไปอย่างยั่งยืนได้ นอกจากนี้ในการพัฒนาเทคโนโลยีการรีไซเคิลแบตเตอรี่จะต้องไม่ใช่เป็นเพียงแค่การพัฒนาในระดับปลายทางเท่านั้น แต่จะต้องมีการบูรณาการทั้งระบบ เช่น การระบุประเภทการใช้งานแบตเตอรี่ที่ช่วยให้สามารถกำหนดวิธีการรีไซเคิลที่เหมาะสมจากผู้ผลิต การออกแบบให้ง่ายต่อการแยกชิ้นส่วนเพื่อการนำไปใช้ประโยชน์ในขั้นตอนต่างๆ หรือแม้แต่กระทั่งการพัฒนากระบวนการแยกแร่ธาตุทางเคมีที่แตกต่างกันให้มีประสิทธิภาพเช่นเดียวกัน
สำหรับผู้ที่สนใจรายละเอียด สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สถาบันการมองอนาคตนวัตกรรม สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) โทรศัพท์ 02-0175555 เว็บไซต์ www.nia.or.th หรือ facebook.com/niathailand