ฝ่าวิกฤตด้วยกระบวนการ Reversing BMC

Business Model Canvas (BMC) เป็นเครื่องมือในการวาดภาพไอเดียทางธุรกิจที่ได้รับความนิยมอย่างมาก ด้วยกล่อง 9 ช่องที่ช่วยแปลง “คุณค่า” ไปสู่รูปแบบการดำเนิน “ธุรกิจ” จึงเหมาะสำหรับการพัฒนาไอเดียธุรกิจใหม่ๆ เพราะช่วยให้เราสามารถสร้างเป้าหมายที่ชัดเจน และมององค์ประกอบการทำธุรกิจอย่างรอบด้าน

กล่อง 9 ช่อง ของ BMC แบ่งออกได้เป็น 4 ด้านหลัก ได้แก่ 1. สิ่งที่ส่งมอบ (offering) 2. กลุ่มลูกค้า (customer) 3. การผลิต (production) และ 4. การเงิน (financing) ซึ่งโดยปกติเรามักจะดำเนินการตามลำดับจากด้านที่ 1 (คุณค่าที่มอบให้กับลูกค้า) และมาจบที่ด้านที่ 4 (โอกาสในการสร้างรายได้ในรูปแบบธุรกิจ)

แต่ในสภาวการณ์ปัจจุบัน ที่ทุกธุรกิจได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 และมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) หลายธุรกิจต้องดิ้นรนเพื่อยืนระยะอยู่รอดให้ได้ จึงอยากเสนอให้ลองนำ BMC มาช่วยในการเริ่มต้น เพราะหลายธุรกิจอาจได้เคยมีการทำ BMC ไปแล้ว จึงน่าที่จะลองนำ BMC กลับมาพิจารณาใหม่ แต่ในครั้งนี้ลองมาทำแบบย้อนกระบวนการกัน (reversing approach) ผ่าน 4 ขั้นตอน ดังนี้

📋 ขั้นตอนที่ 1: วิเคราะห์สถานะทางการเงินของธุรกิจ – “เงิน” เปรียบได้กับเชื้อเพลิงในการขับเคลื่อนเครื่องยนต์ทางธุรกิจ หากเราไม่สามารถหา “รายได้” มาเติมได้ เราก็จำเป็นต้องหาวิธีลด “ค่าใช้จ่าย” เพราะฉะนั้น ธุรกิจต้องเริ่มจากการวิเคราะห์ Revenue Streams ว่ามีรายได้ส่วนไหนที่ได้รับผลกระทบบ้าง เพื่อดูความสามารถได้การหารายได้ที่เป็นอยู่ แล้วจึงมาประเมิน Cost Structure เพื่อดูว่าต้นทุนส่วนไหนที่ไม่จำเป็นหรือลดลงได้บ้าง ไม่ว่าจะเป็นต้นทุนวัตถุดิบ (ทางตรง+ทางอ้อม) ตุ้นทุนแรงงาน ค่าโสหุ้ยต่างๆ ซึ่งต้องมีการควบคุมอย่างใกล้ชิด สิ่งสำคัญคือควบคุม “เงินสด” ให้มีเพียงพอสำหรับการยืนระยะธุรกิจ

📋 ขั้นตอนที่ 2: รีดประสิทธิภาพจากกระบวนการผลิต – การวิเคราะห์สถานะทางการเงินจะช่วยให้ธุรกิจเห็นสิ่งที่เป็นต้นทุนหลักและตุ้นทุนสิ้นเปลืองในการผลิต ธุรกิจจึงต้องเริ่มมาพิจารณา Key Resource ว่าอะไรคือทรัพยากรที่ต้องดูแลให้เพียงพอและใช้งานได้สำหรับการผลิต โดยลดการใช้ทรัพยากรที่ไม่จำเป็นหรือตัดจำหน่ายออกไป จากนั้นพิจารณา Key Activities ที่เกี่ยวข้องเพื่อบริหารจัดการให้กิจกรรมหลักยังสามารถดำเนินต่อไปได้อย่างต่อเนื่อง ในขณะเดียวกันก็ลดขั้นตอนที่ไม่จำเป็นและไม่สร้างมูลค่า (แนวคิด LEAN) รวมไปถึงพิจารณา Key Partners เพื่อดูว่าคู่ค้าหลักที่สำคัญและจำเป็นต่อธุรกิจเป็นใครบ้าง พร้อมทั้งประเมินว่าได้มีการบริหารจัดการคู่ค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพแล้วหรือยัง แนวคิด 3C สำหรับการบริหารจัดการคู่ค้าในภาวะวิกฤต คือ Connection (การใช้ความสัมพันธ์ทางธุรกิจให้เกิดประโยชน์) Credit (การรักษาไว้ซึ่งความน่าเชื่อถือ) และ Compassion (ความเห็นใจและใส่ใจ)

📋 ขั้นตอนที่ 3: ใส่ใจดูแลลูกค้าและมองหาโอกาสใหม่ๆ – ลูกค้าไม่ว่าจะในภาวะปกติหรือภาวะวิกฤตก็ยังคงเป็นกลุ่มเดิม เพียงแต่ในภาวะวิกฤต Channels หรือช่องทางการเข้าถึงลูกค้าอาจเปลี่ยนไป โอกาสในการเข้าถึงลูกค้าอาจลดลงเนื่องจาก Social Distancing เครื่องมือดิจิทัลเริ่มเข้ามามีบทบาทมากขึ้น แนวคิด O2O อาจต้องปรับมาใช้แบบ Offline to Online แทน โดยเน้นกิจกรรมออนไลน์มากขึ้น การติดต่อและสร้างสายสัมพันธ์กับลูกค้า หรือ Customer Relationships ที่แสดงให้เห็นถึงความใส่ใจแม้ในภาวะวิกฤต จะเป็นการซื้อใจและสร้างความเห็นใจจากลูกค้า ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสสำหรับการฟื้นตัวหลังภาวะวิกฤตให้กับธุรกิจ นอกจากนี้ เราต้องไม่ลืมที่จะมองหาความต้องการหรือโอกาสใหม่ๆ เพราะในภาวะวิกฤตมักจะมี Customer Segment ใหม่ๆ เกิดขึ้น

📋 ขั้นตอนที่ 4: มองหาคุณค่าใหม่เพื่อความอยู่รอด – จากขั้นตอนที่ 1 ถึง 3 ทำให้เราทราบถึงสถานการณ์ทางธุรกิจของเราในปัจจุบัน ซึ่งเป็นหน้าที่ที่เราจะต้องมาขบคิดและมองหาโอกาสในการปรับตัว เพื่อให้เกิดการสร้าง “คุณค่า” ใหม่ ที่สามารถตอบโจทย์ลูกค้าและมองหาโอกาสใหม่ที่อาจเกิดขึ้น รวมถึงการเล่นแร่แปรธาตุและการจัดการทรัพยากรให้เกิดการใช้ประโยชน์อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อให้เกิดเม็ดเงินที่จะมาช่วยชดเชยรายได้ที่หายไป และช่วยลดภาระจากต้นทุนค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น

💡 สุดท้ายนี้เราเชื่อว่า การจะก้าวผ่านวิกฤตการณ์ครั้งนี้ไปได้ ธุรกิจต้องย้อนกลับมาดูและวิเคราะห์ตัวเอง เพื่อวางแนวทางในการปรับตัวให้อยู่รอด และมองหาโอกาสจากโจทย์หรือความต้องการใหม่ๆ ที่จะสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับธุรกิจ เพื่อให้เรายืนหยัดอย่างเข้มแข็งและพร้อมที่จะกลับมาหลังภาวะวิกฤต