วิกฤตโควิด 19 กับแนวคิดทางนวัตกรรมที่กำลังจะเปลี่ยนไป (ตอนที่ 1)

เราเคยผ่านภาวะวิกฤตระดับโลก (Global Crisis) มาหลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็นวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจอย่าง Asian Financial Crisis (1997) และ Subprime Mortgage Crisis (2008) วิกฤตการณ์ทางสาธารณสุขอย่างการแพร่ระบาดของ SARS, Swine Flu, MERS หรือ Ebola รวมถึงวิกฤตการณ์ทางธรรมชาติอย่าง Japan's Tsunami and Nuclear Disaster (2011) แต่ที่ผ่านมาล้วนเกิดในขอบเขตที่จำกัด ไม่ว่าจะเป็นเชิงพื้นที่หรือเชิงผู้รับผลกระทบ กล่าวได้ว่าวิกฤตการณ์ COVID-19 ครั้งนี้ สร้างผลกระทบวงกว้างและรุนแรงเป็นอย่างมาก แม้ในเชิงตัวเลขของยอดผู้เสียชีวิตอาจไม่ได้ดูเลวร้ายหากเทียบกับเมื่อครั้ง Swine Flu แต่ด้วยการแพร่ระบาดที่เกิดขึ้นได้ง่ายและรวดเร็วทำให้เกิดความวิตกกังวลไปทั่วทุกมุมโลก ผลกระทบที่เกิดขึ้นทางเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม จะทำให้เกิด “ความเปลี่ยนแปลง” ทั้งเชิงโครงสร้างและเชิงพฤติกรรมที่น่าจับตามอง ได้แก่

 

1.รูปแบบภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) ที่มีประเทศจีนเป็นศูนย์กลางจะเด่นชัดมากขึ้น

ที่ผ่านมาประเด็นขัดแย้งทางเศรษฐกิจระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีนมีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น อันเนื่องมาจากประเด็นการแข่งขันด้านห่วงโซ่มูลค่าโลก (Global Value Chain: GVC) วิกฤตการณ์ COVID-19 ที่เกิดขึ้น จีนเป็นประเทศแรกที่ได้รับผลกระทบ ภาคการผลิตของจีนที่หยุดชะงักส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่มูลค่าโลกและทุกภูมิภาคทั่วโลก ทั้งผู้ผลิตต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำ รวมถึงผู้บริโภค แต่จีนสามารถเข้าสู่ระยะฟื้นฟูได้รวดเร็วด้วยมาตรการต่อสู้กับการแพร่ระบาดของไวรัสที่เข้มงวดและมีประสิทธิภาพ ประกอบกับจีนมีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่เพียงพอที่สามารถสร้างแรงกระตุ้นทางเศรษฐกิจและการบริโภคภายในประเทศได้ง่าย ไม่ต้องพึ่งพิงเศรษฐกิจจากภายนอก และในขณะที่จีนกำลังจะฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว หลายประเทศกำลังต่อสู้กับการแพร่ระบาด จึงเป็นโอกาสสำหรับธุรกิจและเศรษฐกิจของจีนที่จะฟื้นกลับมาด้วยอัตราเร่งในขณะที่พื้นที่เศรษฐกิจอื่นอย่างสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกายังบอบช้ำ

 

2.แนวคิดโลกาภิวัตน์ (Globalization) ถูกตั้งคำถาม

โลกภิวัตน์เป็นแนวคิดที่ขับเคลื่อนการเติบโตของระบบเศรษฐกิจยุคปัจจุบัน ทำให้เกิดการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจและการลงทุนผ่านห่วงโซ่มูลค่าโลก (GVC) วิกฤตการณ์ COVID-19 ที่เกิดขึ้น ทำให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจในวงกว้าง หลายประเทศกลับมาตั้งคำถามต่อความสามารถในการพึ่งพาตนเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากต้องมีการปิดประเทศ นอกจากนี้ โลกาภิวัตน์ทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายของประชากร การเดินทางข้ามพรมแดนที่สะดวกทำให้เกิดการแพร่ระบาดของไวรัสอย่างรวดเร็วยากที่จะควบคุม การปิดพรมแดนจึงเป็นมาตรการที่หลายประเทศเลือกใช้เพื่อควบคุมการแพร่ระบาด ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อระบบเศรษฐกิจและความสามารถในการผลิต ด้วยเหตุนี้ แนวคิดชาตินิยม เพื่อให้เกิดการพึ่งพาตนเองได้ จึงเป็นนโยบายทางเลือกที่จะได้รับการกล่าวถึงมากขึ้น

 

3.สังคมที่เริ่มคุ้นชินกับเทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Familiarity)

สังคมดิจิทัล (Digital Society) เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าการเข้าถึงและการเรียนรู้เทคโนโลยีดิจิทัลแพร่หลายเฉพาะในบางกลุ่มคนและบางช่วงวัย ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเทคโนโลยีดิจิทัลบางครั้งต้องอาศัยการปรับตัวและการเรียนรู้ หากไม่มีความจำเป็นหรือมีความคุ้มค่าในการใช้งาน ผู้ใช้งานส่วนใหญ่จึงไม่เลือกที่จะปรับตัวเข้าหาเทคโนโลยี วิกฤตการณ์ COVID-19 ที่เกิดขึ้น ทำให้ผู้คนต้องดำรงชีวิตแบบเว้นระยะจากสังคม (Social Distancing) จึงเปิดรับเทคโนโลยีดิจิทัลที่จะมาช่วยให้สามารถเชื่อมต่อกับโลกภายนอกมากขึ้นแม้จะต้องมีการปรับตัวในการใช้งาน ตัวอย่างเช่น การเติบโตของการใช้งานระบบประชุมออนไลน์ การใช้เงินดิจิทัล การดูหนังออนไลน์ การใช้งานอีคอมเมิร์ส การใช้งานแพลทฟอร์มดิจิทัลต่าง ๆ สิ่งเหล่านี้ช่วยให้ผู้บริโภคมีความคุ้นชินและเปิดรับเทคโนโลยีดิจิทัลมากขึ้น และนำไปสู่การเปลี่ยนพฤติกรรมที่ทำให้เราก้าวเข้าสู่สังคมดิจิทัลเร็วกว่าที่คาดการณ์

 

4.ทิศทางอุตสาหกรรมกับการพึ่งพาตัวเอง

ในหลายประเทศสัดส่วนการพึ่งพิงอุตสาหกรรมบริการเทียบกับอุตสาหกรรมการผลิตมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง สำหรับประเทศไทย อุตสาหกรรมท่องเที่ยวและบริการเป็นอุตสาหกรรมใหญ่ที่สร้างรายได้และการจ้างงาน วิกฤตการณ์ COVID-19 ที่เกิดขึ้น ทำให้หลายประเทศปิดพรมแดน/ปิดประเทศ (lock-down) ผู้คนเริ่มใช้ชีวิตแบบเว้นระยะจากสังคม เกิดการดำรงชีวิตแบบไม่พึ่งพาระบบ (Off Grid) ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมบริการ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจการเดินทาง ท่องเที่ยว ค้าส่งและค้าปลีก บันเทิง ร้านอาหารและร้านค้า ส่วนอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบน้อยจะเป็นกลุ่มบริการแพลทฟอร์มดิจิทัลและบริการที่มีมูลค่าสูง รวมถึงอุตสาหกรรมการผลิต สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาของความสามารถในการพึ่งพาตัวเองที่เชื่อมโยงกับทิศทางการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมของประเทศ

 

5.ธุรกิจสตาร์ทอัพ (Startup) จะไม่ง่ายเหมือนเดิม

ธุรกิจสตาร์ทอัพเกิดจากโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ ที่ตอบความต้องการของผู้บริโภคที่ยังไม่ได้รับการตอบสนอง และเติบโตอย่างก้าวกระโดดด้วยการลงทุนของนักลงทุน วิกฤตการณ์ COVID-19 ทำให้ระบบเศรษฐกิจทั่วโลกถดถอย ผู้บริโภคส่วนใหญ่หันไปให้ความสำคัญกับปัจจัยพื้นฐานมากกว่าความต้องการใหม่ ๆ นักลงทุนจะชะลอการลงทุนเพราะต้องเก็บเงินไว้ใช้เพื่อฟื้นฟูธุรกิจ ส่งผลกระทบต่อการเติบโตของธุรกิจสตาร์ทอัพ แต่ในขณะเดียวกันอาจเป็นโอกาสสำหรับสตาร์ทอัพกลุ่มดิจิทัลและกลุ่มเทคโนโลยีขั้นสูง (deep-tech) ที่จะเข้ามาแก้ปัญหาเร่งด่วน หรือตอบโจทย์พฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปของผู้บริโภค

 

6.การฟื้นฟูเศรษฐกิจต้องอาศัยภาครัฐและธุรกิจขนาดใหญ่

ผลกระทบจากการดำรงชีวิตแบบเว้นระยะจากสังคม และการปิดพรมแดน/ประเทศ ส่งผลกระทบโดยตรงต่อผู้ใช้แรงงาน ธุรกิจบริการ ผู้ประกอบการขนาดย่อมและขนาดเล็ก ผลกระทบจะยิ่งรุนแรงมากยิ่งขึ้นหากกินเวลานาน ผู้ที่สามารถยืดระยะได้จะเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีเงินสำรองสูง มีธุรกิจรองรับหลากหลาย หรืออยู่ในภาคการผลิตที่พร้อมจะกลับมาได้รวดเร็ว เมื่อวิกฤตการณ์ผ่านพ้นไป ภาครัฐ และ ธุรกิจขนาดใหญ่ จะมีบทบาทสำคัญในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ภาครัฐต้องดูแลไม่ให้เกิดการผูกขาดและเกิดความเหลื่อมล้ำในการแข่งขัน และต้องทำงานร่วมกับธุรกิจขนาดใหญ่อย่างใกล้ชิดเพื่อให้เกิดการจ้างงาน การบริโภค และการฟื้นฟูกิจกรรมทางเศรษฐกิจ

ในการรับมือภาวะวิกฤตนั้น แบ่งการรับมือออกเป็น 3 ลำดับขั้น ได้แก่ 1) ก่อนเกิดเหตุ 2) ระหว่างเกิดเหตุ และ 3) หลังเกิดเหตุ สำหรับการแพร่ระบาดของโควิด 19 ที่เกิดขึ้น สิ่งที่ทำได้ในขั้นที่ 1 คือ การใช้เทคนิคทางระบาดวิทยาและข้อมูลต่าง ๆ มาเตรียมพร้อมรับมือ ซึ่งขณะนี้ประเทศไทยเราเลยจุดนั้นมาแล้ว และกำลังอยู่ในขั้นที่ 2 ที่เริ่มมีการกำหนดมาตรการมาตอบสนองและต่อสู้กับการแพร่ระบาด และทำให้รูปแบบการดำเนินชีวิตแบบปกติกลับมาให้เร็วที่สุด โดยสิ่งที่กำลังรออยู่ในอนาคตคือขั้นที่ 3 การฟื้นฟู รัฐบาลในหลายประเทศได้ออกมาตรการขั้นที่ 2 เพื่อควบคุมการแพร่ระบาด เช่น การรักษา การกักตัว การปิดพรมแดน ควบคู่ไปกับการเตรียมการและสื่อสารมาตรการขั้นที่ 3 ออกมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างขวัญกำลังใจและคลายความกังวลให้กับประชาชน อาทิ มาตรการการเงินการคลังเพื่อประคองเศรษฐกิจ มาตรการช่วยเหลือแรงงานและนายจ้าง

อย่างไรก็ตาม นอกเหนือจากมาตรการระยะสั้นที่เป็นยาแรงสำหรับการฟื้นฟูและการเยียวยา ภาครัฐจำเป็นต้องกำหนดมาตรการต่อเนื่องระยะยาวที่ใช้โอกาสจากความเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างและเชิงพฤติกรรมที่กำลังเกิดขึ้น เพื่อฟื้นฟูระบบเศรษฐกิจ สร้างศักยภาพในการแข่งขันของผู้ประกอบการไทย และสร้างความสามารถให้กับประเทศในการพัฒนาแบบพึ่งพาตัวเองในระยะยาวได้ สิ่งที่ยังขาดหายไปจากรูปแบบการพัฒนานวัตกรรมของไทยเริ่มแสดงให้เห็นว่า นวัตกรรมไม่จำเป็นต้องมุ่งเน้นในการค้าขายเพียงอย่างเดียว แต่นวัตกรรมต้องเป็นเครื่องมือที่มีพลานุภาพในการรับมือกับความเปลี่ยนแปลงข้างต้น