ภาพอนาคตแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงเชิงพื้นที่ เพื่อการพัฒนานวัตกรรมสังคม ในพื้นที่จังหวัดพัทลุง

พัทลุง 2030 อนาคต “พัทลุงอัจฉริยะ (Smart Phatthalung)”

เมืองที่ผู้คนในพื้นที่มีการใช้ประโยชน์ข้อมูลและภูมิปัญญาท้องถิ่นของตน นำทรัพยากรในท้องถิ่นมาเพิ่มมูลค่าผลผลิตด้วยเศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่สามารถพัฒนาต่อยอดเป็นธุรกิจชุมชน หรือยกระดับความรู้ให้เป็นต้นแบบการพัฒนา ต่อยอดภูมิปัญญาผ่านในระบบการศึกษาที่หลากหลายควบคู่กับการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ทำให้ความเหลื่อมล้ำทางสังคมลดลง คุณภาพชีวิตของคนในพื้นที่จังหวัดพัทลุงดีขึ้นจากรายได้ที่เพิ่มขึ้น ภาระหนี้สินลดลง ขณะที่การเคลื่อนย้ายประชากรแรงงานที่มีฝีมือและมีความสามารถออกจากจังหวัดพัทลุงลดลง เกิดการกระตุ้นแรงงานที่มีฝีมือและมีความสามารถกลับมาทำงานที่จังหวัดพัทลุงมากขึ้น ขณะที่สภาพสังคมเมืองพัทลุงเป็นสังคมที่มีการให้และแบ่งปันซึ่งกันและกัน ผ่านการพัฒนาด้านต่างๆ ที่สนับสนุนภาพอนาคต อาทิ

  • Smart City – เมืองพัทลุงเพียบพร้อมด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล มีการปรับใช้ IoT มาใช้ในการบริหารเมืองและมีสิ่งอำนวยความสะดวกในด้านต่างๆ แก่ประชาชน

  • Smart Community – คนในชุมชนความสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารและปกครองมากขึ้น มีส่วนร่วมในการวางแผน พัฒนา ควบคุมและประเมิน ทั้งในด้าน เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมของชุมชน โดยมีการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและอินเทอร์เน็ตในการบริหารชุมชน

  • Smart Learning – ประชาชนในพื้นที่สามารถเรียนรู้ มีทักษะความสามารถในการประกอบอาชีพ เชื่อมโยงความรู้กับภูมิปัญญาท้องถิ่นในการต่อยอดสร้างสรรค์

  • Smart Green Agriculture – ภาคการเกษตรของจังหวัดพัทลุงมีการนำ IoT มาปรับใช้ตั้งแต่ระบบการผลิตขั้นพื้นฐานทั้งกระบวนการ การจัดการระบบนิเวศที่สามารถทำการเกษตรอินทรีย์ มุ่งเน้นการเกษตรปลอดภัยที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม เปลี่ยนจากอุตสาหกรรมแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรขั้นต้นเป็นอุตสาหกรรมแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรที่สร้างมูลค่าเพิ่มมากขึ้น

  • Smart Holistic Health – ระบบสาธารณสุขจังหวัดพัทลุงและประชาชนในจังหวัดพัทลุงมีส่วนร่วมในการพัฒนาระบบการจัดการสาธารณสุขให้มีคุณภาพและได้มาตรฐานทางการแพทย์ ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจในการดูแลสุขภาพตนเองทั้งกายและจิต ป้องกันการป่วยด้วยตนเองมากขึ้น

  • Smart Governance – เมืองพัทลุงสามารถบริหารการจัดการด้วยตนเอง มีการกระจายอำนาจ ทรัพยากรในแต่ละท้องถิ่นเพิ่มมากขึ้นอย่างยุติธรรม

 

รายงานผลการศึกษาภาพอนาคตนวัตกรรมเชิงพื้นที่เพื่อการพัฒนานวัตกรรมเชิงสังคม (Social Foresight) ในพื้นที่จังหวัดพัทลุง  โดย สถาบันการมองอนาคตนวัตกรรม (IFI) ร่วมกับ สำนักบ่มเพาะวิชาการเพื่อวิสาหกิจในชุมชน มหาวิทยาลัยทักษิณ

Download Here : https://ifi.nia.or.th/