ประเทศไทยบนเวทีดัชนีนวัตกรรมโลก Global Innovation Index (GII 2021)

21 กันยายน 2564

ประเทศไทยบนเวทีดัชนีนวัตกรรมโลก Global Innovation Index (GII 2021)

.

การจัดทำดัชนีนวัตกรรมระดับโลกขององค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (WIPO) ถือเป็นตัวชี้วัดความสามารถทางด้านนวัตกรรมที่สะท้อนให้เห็นถึงผลผลิตด้านองค์ความรู้ เทคโนโลยี ความคิดสร้างสรรค์ การวิจัยและพัฒนาของแต่ละประเทศกว่า 132 ประเทศทั่วโลก

ในปี 2021 GII มุ่งวัดความสามารถประสิทธิภาพทางนวัตกรรมในธีม Tracking Innovation through the COVID-19 Crisis ที่เน้นวิเคราะห์ผลกระทบของวิกฤตโรคระบาดโควิด-19 ที่มีต่อการพัฒนาระบบนวัตกรรม

แชมป์เก่าครองอันดับ 1 ในปีนี้ยังคงเป็น สวิสเซอร์แลนด์ รองลงมาสวีเดน (อันดับ 2) สหรัฐอเมริกา (อันดับ 3)  สหราชอาณาจักร (อันดับ 4) เกาหลีใต้ (อันดับ 5)

สำหรับประเทศไทยถูกจัดอันดับความสามารถทางด้านนวัตกรรมอยู่อันดับที่ 43 ปรับเพิ่มขึ้น 1 อันดับ จากปี 2020 โดยในปีนี้ปัจจัยเข้าทางนวัตกรรมปรับเพิ่มขึ้นจากเดิมอันดับที่ 48 เป็นอันดับที่ 47 ขณะที่ปัจจัยย่อยผลผลิตทางนวัตกรรมมีอันดับลดลงจากอันดับที่ 44 ลดลงเป็นอันดับที่ 46 ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มประเทศกลุ่มรายได้ปานกลางระดับบนประเทศไทยอยู่ในอันดับ 5 จากจำนวน 34 ประเทศ โดยประเทศไทยมีอันดับที่ดีกว่าค่าเฉลี่ยในทุกปัจจัย แต่หากเปรียบเทียบกับกลุ่มประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียตะวันออกและโอเชียเนีย ประเทศไทยอยู่ในอันดับ 9 จากจำนวน 17 ประเทศ และถือเป็นอันดับ 3 ในอาเซียนรองจากสิงคโปร์ อันดับ 8 มาเลเซีย อันดับ 36 และเวียดนามอันดับ 44

ปัจจัยชี้วัดความสามารถด้านนวัตกรรมของประเทศไทยที่โดดเด่นมากที่สุด เป็นกลุ่มปัจจัยด้านระบบตลาด และกลุ่มปัจจัยด้านระบบธุรกิจที่แม้จะมีการปรับตัวลดลงมาเล็กน้อยแต่ยังอยู่ในระดับที่ดี โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายมวลรวมภายในประเทศสำหรับการวิจัยและพัฒนาซึ่งลงทุนโดยองค์กรธุรกิจต่างๆ (อันดับ 1) ซึ่งสะท้อนให้เห็นการลงทุนของภาคเอกชนในประเทศไทยมุ่งเน้นเพิ่มขีดความสามารถของธุรกิจด้วยการพัฒนานวัตกรรมมากขึ้น

จากผลการจัดอันดับความสามารถทางด้านนวัตกรรมของประเทศไทยในช่วงที่ผ่านมามีแนวโน้มคะแนนอันดับความสามารถทางนวัตกรรมโดยรวมสูงขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไปสลับขึ้นลงในอันดับที่ไม่แตกต่างจากเดิมมากนัก อุปสรรคสำคัญในการสร้างขีดความสามารถนวัตกรรม ส่วนใหญ่เกิดขึ้นระหว่างปัจจัยเข้าทางนวัตกรรม อาทิ สภาพแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับกฎระเบียบและข้อบังคับต่างๆ อัตราส่วนของครูและนักเรียน การกู้ยืมรายย่อยในระดับไมโครไฟแนนซ์ การลงทุนในธุรกิจร่วมลงทุน การบริการนำเข้าเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร การบริการส่งออกเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เป็นต้น ประเทศไทยจึงต้องเร่งเสริมมาตรการที่เป็นจุดด้อยให้ตรงจุดโดยเฉพาะการเชื่อมโยงต่อยอดการสร้างนวัตกรรมที่มีอยู่แล้วในสร้างการไต่ระดับพัฒนาการทางนวัตกรรมที่จะเป็นสิ่งสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศต่อไป