เสวนานำเสนอภาพอนาคตแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงเชิงพื้นที่เพื่อการพัฒนานวัตกรรมเชิงสังคม (Social Foresight) ในพื้นที่จังหวัดพัทลุง

 27 ตุลาคม 2563

สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์กรมหาชน) โดยสถาบันการมองอนาคตนวัตกรรม (IFI) ร่วมกับสำนักบ่มเพาะวิชาการเพื่อวิสาหกิจในชุมชน มหาวิทยาลัยทักษิณ จัดเสวนานำเสนอภาพอนาคตแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงเชิงพื้นที่เพื่อการพัฒนานวัตกรรมเชิงสังคม (Social Foresight) ในพื้นที่จังหวัดพัทลุง

เพื่อชวนมองอนาคตจังหวัดพัทลุง 2030 และร่วมติดตามแนวโน้มความเปลี่ยนแปลงสำคัญที่มีโอกาสส่งผลกระทบต่อพื้นที่ที่ก่อให้เกิดทั้งโอกาสและความท้าทายในการไปสู่เมืองในอนาคตทั้งในด้านสภาพความเป็นอยู่ เศรษฐกิจ การประกอบอาชีพ การเรียนรู้ การใช้พลังงาน การเชื่อมโยงติดต่อสื่อสาร และลักษณะของเมืองในอีก 10 ปีข้างหน้า พร้อมกับร่วมแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะต่อภาพอนาคตทางเลือก (alternative futures) และกำหนดความเปลี่ยนแปลงความเป็นอยู่ในอนาคตของคนในพื้นที่จังหวัดพัทลุงที่สามารถรองรับต่อความเปลี่ยนแปลงหรือความไม่แน่นอนในอนาคตได้ เพื่อพัฒนาพื้นที่อย่างยั่งยืนไปสู่อนาคตของจังหวัดพัทลุงตามภาพอนาคตที่พึงประสงค์ (Preferable Future) ของคนในพื้นที่ทั้งทางด้านกายภาพเศรษฐกิจ สังคม ชุมชนและสิ่งแวดล้อม

 

โดยได้รับเกียรติจาก นายกู้เกียรติ วงศ์กระพันธ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง และ นางธีรีสา  มัทวพันธุ์ รองผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ร่วมเปิดเสวนานำเสนอภาพอนาคตจังหวัดพัทลุง 2030 และร่วมเสวนากับทีมวิจัยสำนักบ่มเพาะวิชาการเพื่อวิสาหกิจในชุมชน มหาวิทยาลัยทักษิณ และ ดร.ชัยธร ลิมาภรณ์วณิชย์ ผู้จัดการกลยุทธ์นวัตกรรม

มาร่วมแชร์แลกเปลี่ยนมุมมองภาพอนาคตที่พึงประสงค์ของจังหวัดพัทุลง ในฉากทัศน์พัทลุงอัจฉริยะ Smart Phatthalung ที่นิยามแนวโน้มความเปลี่ยนแปลงสำคัญในพื้นที่ที่จะถูกขับเคลื่อนด้วยปัจจัยขับเคลื่อนสำคัญอย่างภูมิปัญญาท้องถิ่นและศูนย์ข้อมูลดิจิทัลพัทลุงผนวกเข้าด้วยกันมาขับเคลื่อนพัฒนาพื้นที่ให้ไปสู่สังคมอัจฉริยะ 6 Smart

Smart Governance เมืองพัทลุงสามารถบริหารการจัดการด้วยตนเอง มีการกระจายอำนาจ ทรัพยากรในแต่ละท้องถิ่นเพิ่มมากขึ้นอย่างยุติธรรม มีการแบ่งเขตพื้นที่เศรษฐกิจจำเพาะที่มีความเหมาะสมสอดคล้องกับศักยภาพของแต่ละพื้นที่

Smart Learning ประชาชนในพื้นที่สามารถเรียนรู้เท่าทันโลกาภิวัฒน์ มีทักษะ ความสามารถ ในการประกอบอาชีพ เชื่อมโยงความรู้กับภูมิปัญญาท้องถิ่น ต่อยอดสร้างสรรค์ต่อยอดองค์ความรู้ที่นำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในพื้นที่

Smart City เมืองพัทลุงที่เพียบพร้อมด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล มีการปรับใช้ IoT มาใช้ในการบริหารเมืองและการมีสิ่งอำนวยความสะดวกในด้านต่างๆ แก่ประชาชน ทั้งระบบสาธารณูปโภคและสาธารณูปการ ระบบป้องกันภัยอัจฉริยะ การใช้พลังงานหมุนเวียน ระบบการขนส่งที่เชื่อมต่อภายในเมืองพัทลุงและระหว่างเมืองพัทลุงกับเมืองอื่นได้อย่างสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย

Smart Green Agriculture ภาคการเกษตรของจังหวัดพัทลุงที่ทำการเกษตรโดยนำ IoT มาปรับใช้ตั้งแต่ระบบการผลิตขั้นพื้นฐานทั้งกระบวนการ จัดการระบบนิเวศน์ที่สามารถทำการเกษตรอินทรีย์ ที่มุ่งเน้นการเกษตรปลอดภัยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม เปลี่ยนจากอุตสาหกรรมแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรขั้นต้นเป็นอุตสาหกรรมแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรที่สร้างมูลค่าเพิ่มมากขึ้น

 

Smart Community คนในชุมชนมีความสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารปกครองด้วยตนเองมากขึ้น มีส่วนร่วมในการวางแผน พัฒนา ควบคุมและประเมิน ทั้งในด้าน เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมของชุมชน โดยมีการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล และอินเตอร์เน็ตในการบริหารชุมชน และนำมรดกภูมิปัญญาวัฒนธรรมท้องถิ่นของแต่ละชุมชนมาสร้างอัตลักษณ์เอกลักษณ์ที่โดดเด่นที่สามารถรายได้ให้คนในพื้นที่

Smart Holistic Health ระบบสาธารณสุขจังหวัดพัทลุงและประชาชนในจังหวัดพัทลุงมีส่วนร่วมในการพัฒนาระบบการจัดการสาธารณสุขให้มีคุณภาพและได้มาตรฐานทางการแพทย์ ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจในการดูแลสุขภาพตนเองทั้งกายและจิต ป้องกันการป่วยด้วยตนเองมากขึ้น มีเทคโนโลยีเข้าช่วยในการตรวจสอบสุขภาพด้วยตนเอง

#PhatthalungSocialForesight #SocialForesight #FutureScene

#NIA #IFI #UniversityofPhatthalung #ThaksinUniversity #ICEI #Phatthalung