4 วิธีทักทายแบบปลอดภัย ห่างไกลโควิด-19

4 วิธีทักทายแบบปลอดภัย ห่างไกลโควิด-19

นับตั้งแต่มีการระบาดของโรคโควิด-19 การทักทายแบบชาวตะวันตกที่มีการสัมผัสเกิดขึ้น เช่น การจับมือ และการกอด กลายเป็นความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของไวรัส จึงมีการทักทายด้วยรูปแบบอื่น ๆ เกิดขึ้น เช่น การแตะมือกลางอากาศ หรือการแตะเท้าทักทาย ซึ่งจริง ๆ แล้วนั้น ยังมีอีกหลาย ๆ วัฒนธรรมที่มีประเพณีการทักทายที่ไม่ต้องสัมผัสกัน รวมถึงการไหว้ของไทยเราด้วย และการทักทายเหล่านี้ก็ยังมีประวัติความเป็นมาที่น่าสนใจ ดังนี้

1.“ไหว้ (Wai)” จากประเทศไทย

การไหว้เป็นวัฒนธรรมการทักทายในประเทศไทย โดยการนำมือทั้งสองข้างพนมไว้ที่หน้าอก โค้งตัวและก้มหัวลงให้กับคนที่อยู่ด้านหน้า ซึ่งการไหว้นี้ได้รับอิทธิพลมาจากวัฒนธรรมของศาสนาฮินดู และศาสนาพุทธ การไหว้นั้นแท้ที่จริงแล้วเป็นการทักทายที่แสดงออกให้เห็นว่าผู้ไหว้มีความรู้สึกที่เปิดรับ ไม่ได้พกพาอาวุธ และมาอย่างสันติ นอกจากนี้ การไหว้ยังใช้ในพิธีกรรมทางศาสนา การขอโทษ และการขอร้องได้อีกด้วย จริง ๆ แล้วความหมายของการไหว้นั้นก็ไม่ได้ตายตัว โดยปกติเมื่อพบเจอกันคนไทยจะไหว้ พร้อมกล่าวว่า สวัสดีค่ะ หรือ สวัสดีครับ ซึ่งจะเป็นการทักทายอย่างสุภาพ และถ้าจะแสดงความเคารพที่มากขึ้น เราจะใช้การโค้งตัวที่มากขึ้น และการยกมือที่สูงขึ้น เช่น การยกมือระดับอกสำหรับการทักทายทั่วไป การยกมือระดับหน้าสำหรับแสดงความเคารพต่อผู้ที่อายุมากกว่า หรือหัวหน้างาน การยกมือระดับศีรษะสำหรับการแสดงความเคารพต่อพระสงฆ์ และในภาวะการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 นี้ องค์การอนามัยโลก (World Health Organization, WHO) ก็ได้แนะนำให้การไหว้เป็นหนึ่งในวิธีที่ใช้ทักทายกัน เพื่อลดการสัมผัสลงได้

2.“นมัสเต (Namaste)” จากประเทศอินเดียและเนปาล

“นมัสเต” เป็นคำที่ใช้เรียกการทักทายจากประเทศอินเดียและเนปาล มีลักษณะคล้ายการไหว้ของไทย โดยมีการพนมมือจรดที่หน้าอก แต่จะไม่มีการโค้งตัวมากเท่าการไหว้ คำว่า “Namaste” มีที่มาจากภาษาสันสกฤต แปลว่า การโค้งหรือการคำนับคุณ  การโค้งตัวและโค้งศีรษะเล็กน้อยในระหว่างการทักทายแบบนมัสเต เป็นการแสดงว่า ‘พระเจ้าในตัวฉันทำความเคารพพระเจ้าในตัวคุณ’ นมันสเตเป็นสัญลักษณ์ของการเคารพ และขอบคุณ เป็นการทักทายที่แสดงถึงความเท่าเทียม และการเคารพนับถือการเป็นมนุษย์ของกันและกัน นอกจากนี้ในปัจจุบันเรายังเห็นสัญลักษณ์นมัสเตนี้ได้ในวัฒนธรรมตะวันตก ไม่ว่าจะเป็นบนเสื้อผ้าแฟชั่นกระเป๋า บนกระป๋องเบียร์ และมักจะถูกนำมาใช้ในคลาสโยคะ เป็นต้น

 

3.“โค้งคำนับ (Bowing) จากประเทศญี่ปุ่น

การโค้งคำนับเป็นลักษณะการเคารพและการทักทายของประเทศญี่ปุ่น โดยเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ถึงความนอบน้อม เป็นการกระทำที่สืบเนื่องมากว่า 1,000 ปี โดยการโค้งคำนับได้ถูกนำมาใช้ในประเทศญี่ปุ่นตั้งแต่ศตวรรษที่ 7 โดยแรกเริ่มเดิมทีนั้นนำมาใช้กับบุคคลชั้นสูงของประเทศญี่ปุ่น หลังจากนั้นเริ่มนำมาใช้กับนักรบซามูไรในศตวรรษที่ 12 แต่ก็ยังไม่ได้เป็นวัฒนธรรมที่ปฏิบัติกับบุคคลทั่วไปจึงไม่เป็นที่นิยมนัก หลังจากศตวรรษที่ 17 การโค้งคำนับแบบญี่ปุ่นเริ่มได้รับความนิยมมากขึ้น จนปัจจุบันนี้การโค้งคำนับแบบญี่ปุ่นได้กลายเป็นวัฒนธรรมการทักทายที่ทุกคนใช้ในชีวิตประจำวันทั่วไป โดยลักษณะท่าทางของการโค้งคำนับก็จะแตกต่างกันออกไปในแต่ละสถาการณ์ เช่น การเคารพบุคคลทั่วไปจะโค้งลำตัวประมาณ 15 องศา การเคารพบุคคลที่มีเกียรติหรือการทักทายลูกค้า จะโค้งลำตัวที่ 30 องศา และการแสดงความเสียใจหรือการเคารพอย่างสูงจะโค้งลำตัวที่ 45 องศา

4.“ปรบมือ (Cup and Clap)” จากประเทศแซมเบีย

การทักทายด้วยการจับมือเป็นวัฒนธรรมที่พบได้ทั่วไปในประเทศแซมเบีย แต่ยังมีการทักทายแบบดั้งเดิมอีกรูปแบบหนึ่งที่ยังคงปรากฏให้เห็น นั่นคือ การปรบมือ แต่ไม่ใช่การปรบมือทั่วไปแบบสากล แต่ชาวแซมเบียจะประสานมือเข้าด้วยกันคล้าย ๆ กำลังถือแก้วน้ำ จากนั้นก็ปรบมือโดยใช้บริเวณฝ่ามือกระทบกันและปลายนิ้วไม่แยกออกจากกัน 2 ครั้ง พร้อมกับพูดว่า “มูลิ บวันจิ” “Muli Bwanji” การทักทายเช่นนี้สามารถพูดได้ทั้งวันเช่นเดียวกับคำว่าสวัสดี หรือจะพูดว่า “มวัวคา บวันจิ” “Mwauka Bwanji” ซึ่งมีความหมายว่า สวัสดีตอนเช้าก็ได้ และถ้าเป็นการทักทายอย่างเป็นทางการ จะเพิ่มการย่อตัวลงเล็กน้อย ก่อนจะปรบมือ ส่วนการแสดงความเคารพ การทักทายผู้สูงอายุหรือว่าผู้ใหญ่ สามารถทำได้โดยนำมือวางบนช่วงอกและช่วงท้องจากนั้นงอเข่าลงคล้าย ๆ กับการถอนสายบัว แม้ว่าประเทศแซมเบียจะมีชนเผ่าพื้นเมืองมากกว่า 70 ชนเผ่า แต่การทักทายด้วยการปรบมือถือเป็นวัฒนธรรมที่สืบทอดกันมาหลายยุคหลายสมัย และมีการใช้อย่างแพร่หลายตั้งแต่ชนเผ่าพื้นเมืองจนถึงนักธุรกิจในเมือง

Source: https://www.nationalgeographic.com/travel/2020/03/ways-people-around-world-say-hello-without-touching-coronavirus/