เอ็นไอเอ ชูไอเดีย “เอดับบลิวจี” นวัตกรรมทางออกเพื่อลดการขาดแคลนน้ำ แนะสตาร์ทอัพ – ผปก.ไทย เร่งใช้โอกาสพัฒนาสินค้าสู่ตลาดโลก 12 พฤศจิกายน 201912 ธันวาคม 2019it itบทความ (Article) 18 มีนาคม 2562 สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA โดยสถาบันการมองอนาคตนวัตกรรม ชี้การใช้น้ำเพื่ออุปโภคบริโภคมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง สาเหตุจากความต้องการน้ำมีปริมาณเพิ่มขึ้น ความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศ และยังพบว่าคุณภาพน้ำมีแนวโน้มเสื่อมโทรมลงจากกิจกรรมต่างๆ จึงจำเป็นที่จะต้องมีการรับมือและการบริหารจัดการเพื่อเตรียมแก้ไขปัญหาน้ำที่กำลังจะเกิดขึ้นด้วยเทคโนโลยีและเครื่องมือสมัยใหม่เพื่อป้องกันการขาดแคลนในอนาคต ทั้งนี้ หนึ่งในนวัตกรรมที่สามารถลดอุปสรรคดังกล่าวและมีแนวโน้มการเติบโตเป็นอย่างสูง คือ การแปลงอากาศเป็นน้ำด้วยเครื่องผลิตน้ำจากอากาศ หรือ Atmospheric Water Generation : AWG ซึ่งเป็นการดึงน้ำจากความชื้นในอากาศมาผลิตเป็นน้ำจืดที่สามารถอุปโภคบริโภค ช่วยลดภาระการใช้น้ำจากแหล่งน้ำ และสามารถใช้ในกิจกรรมต่างๆ อาทิ ระบบชลประทานเพื่อการเพาะปลูก การใช้ในที่พักตามเขตเมืองและชนบท โดยคาดว่านวัตกรรม AWG จะมีโอกาสเติบโตสูงใน 3 ตลาด ได้แก่ ทวีปอเมริกาเหนือ ทวีปยุโรป และเอเชียแปซิฟิก และในปี 2022 จะมีมูลค่าทางการตลาดสูงถึง 1.1 พันล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ และคาดการณ์ว่าเครื่องผลิตน้ำจากอากาศจะขยายตัวเพิ่มขึ้นเนื่องจากปริมาณน้ำจืดสำรองที่ลดลงและจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น โดยอัตราการเติบโตของตลาดจะอยู่ที่ 9.5% ต่อปี แนวโน้มการใช้เทคโนโลยี AWG ระหว่างปี 2019 - 2022 คาดว่าจะมีการใช้เพิ่มขึ้นอย่างแพร่หลาย โดย ส่วนใหญ่จะถูกนำไปเป็นส่วนประกอบในชลประทานขนาดใหญ่ของพื้นที่เพาะปลูกในเขตแห้งแล้งและกึ่งแห้งแล้ง และในปี 2020 จะมีการใช้ AWG ขนาดใหญ่ในที่พักตามเมืองเล็กๆ และชุมชน ซึ่งจะทำให้ไม่มีมลพิษ มีน้ำสะอาดเพื่ออุปโภคบริโภค และช่วยลดการใช้น้ำตามแหล่งธรรมชาติ ขณะที่ปี 2021 คาดว่าจะมีการติดตั้งระบบ AWG ในรถยนต์ที่ใช้เชื้อเพลิงไฮโดรเจน ซึ่งจะช่วยสร้างน้ำจืดได้ตามระยะการเดินทางของรถ และคาดว่าในปี 2022 คาดว่าน้ำที่ผลิตได้คุณภาพตามหลักเกณฑ์ขององค์การอนามัยโลก (WHO) จะมีรายได้ในตลาดโลกอยู่ที่ 1.1 พันล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ กระบวนการผลิตน้ำของ AWG นอกจากจะมีความปลอดภัยและสะอาดแล้ว เครื่องมือดังกล่าวยังสามารถผลิตน้ำดื่มสะอาดได้โดยเฉลี่ยหลักสิบ – พันลิตรต่อวันทั้งน้ำร้อนและน้ำเย็น ประหยัดค่าใช้จ่ายในการซื้อน้ำดื่มโดยรวมได้ถึงหลักพันบาทต่อเดือน ช่วยลดปริมาณขยะพลาสติกจากการซื้อน้ำดื่ม บรรจุขวด น้ำดื่มที่ได้ยังเป็นน้ำที่สะอาด บริสุทธิ์ รสชาติคล้ายน้ำฝน ไม่มีการบำบัดด้วยสารเคมีหรือคลอรีน นอกจากนี้ ยังจะช่วยในเรื่องของระบบชลประทานในพื้นที่ฟาร์ม ที่สามารถลดการกักเก็บน้ำ เหมาะกับการปลูกพืชแนวดิ่งที่มีคุณภาพสูงลดอุปสรรคในการขนส่งหรือลำเลียงน้ำ เนื่องจากสามารถติดตั้งได้ในทุกพื้นที่แม้สภาพแวดล้อมจะไม่มีความเหมาะสม รวมถึงช่วยแก้ปัญหาเรื่องการผูกขาดของตลาดสินค้าน้ำดื่มได้เป็นอย่างดีอีกด้วย นอกจากนี้ ยังคาดว่านวัตกรรมดังกล่าวยังจะมีการเติบโตใน 3 กลุ่มตลาดที่สำคัญ ได้แก่ 1.ทวีปอเมริกาเหนือ ที่ถือเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดและผู้บริโภคมีความพร้อม (Mature Market) ซึ่งขณะนี้องค์การพัฒนาระหว่างประเทศแห่งแคนาดาและกองทัพเรือสหรัฐอเมริกาได้ให้การสนับสนุนเงินทุนพัฒนาต้นแบบที่หลากหลายเชิงพาณิชย์เพื่อผลิตน้ำดื่มที่ปลอดภัยในอนาคต 2.ทวีปยุโรป กำลังมีการร่วมมือระหว่างผู้คิดค้นนวัตกรรมและผู้ผลิตน้ำพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อผลิตน้ำจืดจากอากาศที่จะถูกนำมาใช้แทนระบบผลิตน้ำจืดจากทะเล และ 3. เอเชียแปซิฟิก ซึ่งล่าสุดบริษัทยักษ์ใหญ่ของประเทศอินเดียได้ร่วมมือกับสตาร์ทอัพชั้นนำจากอิสราเอล ติดตั้งเครื่องผลิตน้ำจากอากาศทั่วประเทศเพื่อผลิตน้ำดื่มที่ปลอดภัยโดยเครื่องผลิตน้ำจากบรรยากาศขนาดกลางและขนาดใหญ่ สามารถผลิตน้ำจากอากาศได้มากถึง 6,000 ลิตรต่อวัน โดยมีสตาร์ทอัพชั้นนำจากประเทศอิสราเอล ได้คิดค้นและพัฒนาเทคโนโลยีการดึงน้ำจากความชื้นในอากาศมาผลิตเป็นน้ำจืดที่สามารถบริโภคได้ สะอาด ปราศจากมลพิษ และเป็นวิทยาการสมัยใหม่ที่สามารถลดภาระการใช้น้ำจากแหล่งน้ำจืดต่างๆ รวมถึงมีความยั่งยืนสูง ทั้งนี้ คาดการณ์ว่าปริมาณความต้องการเครื่องผลิตน้ำจากอากาศจะเป็นที่ต้องการในตลาดมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องด้วยการเปลี่ยนแปลงใน 6 ปัจจัย ได้แก่ นวัตกรรมสู่ความเป็นศูนย์ (Innovating to Zero) การเกิดขึ้นของสังคมเมือง กระแสการใส่ใจในสุขภาพ การสร้างความแตกต่างให้กับโมเดลธุรกิจ การลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการค้นหาพลังงานใหม่ๆ ที่จำเป็นต่อการดำเนินชีวิตในอนาคต รวมถึงในกลุ่มประเทศที่มีสภาพอากาศแห้งแล้งรุนแรงและมีข้อจํากัดด้านทรัพยากรธรรมชาติ โดยเฉพาะสภาพอากาศแบบทะเลทรายและกึ่งทะเลทราย ซึ่งจะก่อให้เกิดปัญหาแหล่งน้ำไม่เพียงพอทั้งน้ำอุปโภค-บริโภค และน้ำสำหรับการเกษตร ทั้งนี้จะเห็นได้ว่าในปัจจุบันน้ำกลายเป็นปัจจัยหนึ่งในการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของโลกอย่างชัดเจน ประเทศที่มีระบบการจัดการน้ำที่ดี ย่อมส่งผลต่อการพัฒนาของประเทศที่มั่นคงยั่งยืน ดังนั้น การเข้ามาของนวัตกรรม AWG จึงถือเป็นอีกโอกาสสำคัญสำหรับผู้ประกอบการและสตาร์ทอัพไทยในการพัฒนาระบบหรือเครื่องมือดังกล่าวให้มีประสิทธิภาพที่ดียิ่งขึ้น เพื่อส่งต่อไปยังตลาดและผู้บริโภคในกลุ่มพื้นที่ที่มีความต้องการอุปโภค – บริโภคน้ำในระดับที่สูง รวมถึงภูมิภาคต่างๆในประเทศไทย นอกจากนี้ การเกิดขึ้นของเทคโนโลยีดังกล่าว ถือว่ามีความจำเป็นอย่างยิ่งกับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต ซึ่งการผลิตพลังงานที่สะอาดและยั่งยืนถือเป็นโจทย์ที่สำคัญที่สุดที่จะต้องเร่งพัฒนาในช่วงเวลานี้ ในโอกาสครบรอบ 10 ปี แห่งการจัดตั้งสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) NIA เดินหน้าสู่การเป็นหน่วยงานหลักในการส่งเสริมนวัตกรรมเพื่อการสร้างสรรค์เศรษฐกิจและสังคม พร้อมเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงการได้รับการสนับสนุนให้กับเยาวชน นักศึกษา ผู้ประกอบการ และผู้สนใจการพัฒนานวัตกรรมทุกระดับ นอกจากนี้ ยังมุ่งผลักดันให้ประเทศไทยก้าวสู่ INNOVATION NATION หรือประเทศแห่งนวัตกรรมอย่างเต็มรูปแบบ ผู้ที่สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดและข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สถาบันการมองอนาคตนวัตกรรม สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) โทรศัพท์ 02-0175555 และ www.nia.or.th Facebook iconFacebookTwitter iconTwitterLINE iconLine