6 นวัตกรรมช่วยพาน้องๆ “ทีมหมูป่า” ออกจากถ้ำ

 3 กรกฎาคม 2561

 

นับเป็นข่าวดีภายหลังเจ้าหน้าที่ออกแถลงการณ์ค้นพบนักเตะเยาวชนทีมหมูป่าและผู้ฝึกสอนรวม 13 ชีวิต ที่พลัดหลงภายในถ้ำหลวง วนอุทยานขุนน้ำนางนอน อ.แม่สาย จ.เชียงราย ตั้งแต่วันที่ 23 มิถุนายน 2562

งานนี้นอกจากจะขอบคุณการบูรณาการในการทำงานจากทุกภาคส่วนแล้ว สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ หรือ NIA ต้องขอขอบคุณอุปกรณ์ไฮเทคเหล่านี้ที่ช่วยให้ฮีโร่ทำงานได้ง่ายขึ้น จนพบน้องๆในที่สุด

#สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ #NIA #นวัตกรรม #ถ้ำหลวง #13ชีวิตรอดแล้ว #ทีมหมูป่า#IFI #InnovationSolution

ดาวน์โหลด PDF

หุ่นยนต์ดำน้ำ ROV ยานขับเคลื่อนใต้น้ำชนิดใช้สายควบคุม ทำงานภายใต้ความร่วมมือของศูนย์วิจัยเฉพาะทางวิศวกรรมอวกาศและทะเล (CASME) สำนักวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) พร้อมด้วยทีมปฏิบัติการจำนวน 10 คน นำโดย ดร.สว่างทิตย์ ศรีกิจสุวรรณ

โดรน (Drone) ใช้การสำรวจทางอากาศ โดรนติดกล้องตรวจจับความร้อนสำหรับบินสำรวจ พร้อมด้วยอุปกรณ์ค้นหา โดยโดรน 2 ตัวแรก ที่ทำหน้าที่ในการสำรวจทางอากาศ 1 ตัว และสามารถดำน้ำได้ 1 ตัว ซึ่งมีความสามารถในการตรวจจับความร้อนได้ สามารถแยกแยะอุณหภูมิระหว่างสิ่งมีชีวิตที่เป็นคน สัตว์ ต้นไม้ และอื่นๆ ได้ ทั้งหมดนี้ได้รับการสนับสนุนจากบริษัทวิจัยแห่งหนึ่ง

เครื่องสูบน้ำไฟฟ้าขนาดใหญ่แรงดันสูง อย่างที่ทราบกันตลอดระยะเวลาที่น้องๆสูญหาย ฝนตกและน้ำป่าหลากอยู่ตลอดเวลา ทางกรุงเทพมหานครจึงสนับสนุนเครื่องสูบนำ้ไฟฟ้าขนาดใหญ่แรงดันสูง จำนวน 5 เครื่อง และสายสูบพร้อมเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน โดยให้กองทัพอากาศสนับสนุนการขนย้ายทางอากาศจาก กรุงเทพมหานครไปยัง จังหวัดเชียงราย ด้วยเครื่องบิน C 130

รถสถานีเคลื่อนที่ การส่งสัญญานมีส่วนสำคัญในการติดต่อสื่อสารระหว่างเจ้าหน้าที่เป็นอย่างมาก ทำให้ทั้งภาครัฐและเอกชนต่างช่วยกันอำนวยความสะดวกในเรื่องนี้อย่างเต็มที่เริ่มที่ เอไอเอส นำรถสถานีเคลื่อนที่เดินทางถึงพื้นที่ พร้อมระดมทีมงานวิศวกรผู้เชี่ยวชาญด้านเครือข่ายประจำพื้นที่เพื่อดูแลสถานการณ์อย่างใกล้ชิด รวมถึงสแตนด์บายทีมงานและวิศวกร ณ ศูนย์ปฏิบัติการส่วนกลาง เพื่อมอนิเตอร์การทำงานตลอดเวลา นอกจากนั้นกำลังลากสายไฟเบอร์ออฟติกอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงเข้าพื้นที่เพื่อเปิดสัญญาณไวไฟ

อุปกรณ์ช่วยชีวิต จากสวีเดน และอิตาลี อุปกรณ์ดำน้ำสำหรับผู้ที่ไม่เคยฝึกดำน้ำมาก่อน ลักษณะคล้ายกับหมวกกันน็อก คือ สวมแล้วสามารถหายใจได้แบบปกติทันที หมายความว่าหากร่างกายน้องๆพร้อมเมื่อไหร่ ก็ออกจากถ้ำได้เลย

อุปกรณ์สแกนจำลองภาพ 3 มิติ กล้องสแกนถ้ำ P 20 leica laser scanner ถูกส่งเข้าไปสมทบในปฏิบัติการค้นหา 13 ชีวิต โดยบริษัท R.S.K Rescue Equipment ซึ่งอุปกรณ์ชนิดนี้ถูกออกแบบเพื่อให้สแกนโครงสร้างกำแพงอาคาร และผนังถ้ำ โดยประมวลผลเป็นรูปแบบอินฟราเรด 3 มิติส่วนวิธีการทำงานตัวเครื่องจะยิงเลเซอร์ออกไปรอบตัว และแสดงผลออกมาเป็นแบบโครงสร้าง 3 มิติ รัศมีเลเซอร์จะอยู่ที่ 150-200 เมตร แต่ถ้าจะให้ทราบถึงโครงสร้างถ้ำแบบเห็นรายละเอียดทั้งหมด จะต้องวางกล้องถ่ายเป็นระยะๆ ไป โดยการถ่ายและสแกนครั้งหนึ่ง ใช้เวลาไม่เกิน 3 นาที นอกจากนี้ P 20 leica laser scanner ไม่สามารถแสดงผลได้โดยอิสระ แต่ต้องทำงานควบคู่กับเครื่องอุปกรณ์รับส่งคลื่นสัญญาณ และการช่วยเหลือน้องๆครั้งนี้ไทยได้ใช้ดาวเทียมสำรวจภาคพื้นธรณีวิทยาทางทหารของสหรัฐฯ เพื่อใช้ปฏิบัติภารกิจสแกนถํ้าหลวง กระทั่งได้ข้อมูลอันเป็นประโยชน์และช่วยเหลือนักเตะทีมหมูป่าได้สำเร็จ