COVID-19 ส่งผลร้ายต่อผู้ชายมากกว่าผู้หญิง จริงหรือไม่?

COVID-19 ส่งผลร้ายต่อผู้ชายมากกว่าผู้หญิง จริงหรือไม่?

ในขณะที่โรคโควิด-19 นั้นได้แพร่ระบาดไปทั่วทุกมุมโลก แต่จากการเก็บข้อมูลแล้วพบว่าเชื้อไวรัสนี้ส่งผลต่อคนแต่ละเพศแต่ละวัยอย่างแตกต่างกัน เพราะนอกจากจะมีรายงานว่าผู้ใหญ่และผู้สูงอายุมีความเสี่ยงต่อโรคนี้มากกว่าแล้ว นักวิทยาศาสตร์ยังพบว่าผู้ชายนั้นมีแนวโน้มจะติดเชื้อและเสียชีวิตได้มากกว่าผู้หญิงเช่นกัน

รายงานจากอิตาลี และจากศูนย์ป้องกันและควบคุมโรค (CDC) ของจีนเผยให้เห็นว่าอัตราการเสียชีวิตจากโรคโควิด-19 ของผู้ชายนั้นสูงกว่าผู้หญิงในเกือบทุกช่วงอายุ โดยจีนได้ตรวจพบผู้ป่วยทั้งหมด 44,672 ราย โดยพบว่ามีผู้ชายติดเชื้อและเสียชีวิตสูงถึง 2.8 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่มีผู้หญิงติดเชื้อและเสียชีวิตเพียง 1.7 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งแนวโน้มดังกล่าวคล้ายคลึงกับการแพร่ระบาดของโรคซาร์สในปี 2003 และการแพร่ระบาดของโรคไข้ไหว้ใหญ่ในสเปนเมื่อปี 1918

เรื่องนี้อาจอธิบายได้ว่า ผู้ชายมีภูมิคุ้มกันโรคน้อยกว่าผู้หญิง นั่นหมายความว่าผู้ชายที่ติดเชื้อมีแนวโน้มที่จะมีอาการรุนแรงกว่า จากข้อมูลของ Sabra Klein ผู้ศึกษาความแตกต่างทางเพศในการติดเชื้อไวรัสที่โรงเรียนสาธารณสุข Johns Hopkins Bloomberg อธิบายว่า “เราพบว่าในการติดเชื้อไวรัสในระบบทางเดินหายใจหลาย ๆ ชนิดที่ผ่านมา ผู้ป่วยหญิงจะสามารถต่อสู้กับเชื้อไวรัสได้ดีกว่าผู้ชาย” ถึงแม้จะยังไม่มีงานวิจัยที่แน่ชัด แต่นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า ฮอร์โมนเพศเอสโตรเจนซึ่งมีมากในผู้หญิงมีบทบาทสำคัญในการสร้างภูมิคุ้มกัน และยังเชื่อว่าโครโมโซม X ที่มีในผู้หญิง 2 ตัว มีในผู้ชาย 1 ตัว ก็มียีนที่เกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกันอยู่มากเช่นกัน

อีกหนึ่งปัจจัยที่น่าสนใจ ก็คือ การดำเนินชีวิตที่อาจมีบทบาทสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสูบบุหรี่ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าจะทำให้เกิดโรคทางเดินหายใจรุนแรงขึ้น จากการศึกษาของ NCBI ในประเทศจีนพบว่ามีผู้สูบบุหรี่สูงถึง 316 ล้านคน ซึ่งถือว่าเป็นประเทศที่มีประชากรสูบบุหรี่มากที่สุดในโลก และพบว่าผู้ชาย 52.1% เป็นผู้ที่สูบบุหรี่ ในขณะที่มีผู้หญิงเพียง 2.7% ที่สูบบุหรี่ สิ่งนี้ทำให้เกิดคำถามเพิ่มเติมว่าเพศและการสูบบุหรี่เชื่อมโยงกับการเจ็บป่วย COVID-19 หรือไม่ อย่างไร

นอกจากนี้จากข้อมูลสถิติ ยังพบว่า ผู้ชายส่วนใหญ่มีภาวะความดันโลหิตสูงมากกว่าผู้หญิง ซึ่งภาวะนี้จะส่งผลรุนแรง ต่อผู้ติดเชื้อ COVID-19 อาจทำให้เกิดอันตรายถึงชีวิตได้ CDC ยังระบุด้วยว่า โรคหัวใจและหลอดเลือดเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตอันดับต้น ๆ สำหรับผู้ชาย และจากการศึกษาที่ผ่านมายังพบอีกว่า ยาสองชนิดที่ใช้ในการรักษาโรคหัวใจและหลอดเลือดชนิดต่าง ๆ คือ ยาลดความดันโลหิตกลุ่ม Angiotensin-converting enzyme (ACE) inhibitors และ ยาลดความดันโลหิตกลุ่ม Angiotensin receptor blockers ส่งผลให้เชื้อไวรัสโคโรน่ามีแนวโน้มที่จะแพร่กระจายเข้าสู่ปอดได้มากขึ้น ดังนั้นผู้ชายจึงอาจเสี่ยงต่อการเกิดสภาวะของโรคที่รุนแรงเนื่องจากการติดเชื้อไวรัสนี้ได้

Source:

1. https://www.independent.co.uk/news/science/coronavirus-men-women-immune-symptoms-outbreak-a9364641.html

2. https://www.epicentro.iss.it/coronavirus/bollettino/Report-COVID-2019_20_marzo_eng.pdf

3. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC4896734/

4. https://www.sciencedaily.com/releases/2020/03/200323101354.htm